วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

การฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำ (Intravenous Injection)

ข้อบ่งชี้
เพื่อฉีดยาหรือสารเข้าเส้นเลือดดำ

ข้อควรระวัง / ข้อห้าม
การฉีดยาเข้าเส้นเลือดควรหลีกเลี่ยงเส้นเลือดบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อ หรือมีการฉีกขาดของเส้นเลือดส่วนต้น (proximal vein injury) เช่นในกรณีที่มีบาดแผลไฟไหม้บริเวณกว้างหรือการบาดเจ็บรุนแรงของช่องท้อง นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้เส้นเลือดบริเวณขา และเส้นเลือดที่คอในทารกเล็กๆ ที่มีปัญหาหายใจลำบากหรือมีปัญหาในกะโหลกศีรษะเลือดและสารคัดหลั่งจากร่างกาย ให้ถือว่าเป็นสิ่งที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค ควรระมัดระวัง
ไม่ให้ถูกต้องกับผิวหนังหรือเสื้อผ้า

อุปกรณ์
1. อุปกรณ์ห่อตัว
2. อุปกรณ์ฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ 70% หรือ povidone-iodine สำลี
3. ถุงมือ
4. กระบอกฉีดยา ขึ้นกับปริมาณสารที่ต้องการฉีด
5. เข็มฉีดยา ขนาดขึ้นกับขนาดตัวผู้ป่วย ตั้งแต่ 25 – 18 gauge ทั่วไปใช้ขนาด 23 – 21gauge ความยาว 0.5 – 1.5 นิ้ว อาจใช้เข็มชนิด butterfly ในกรณีที่ต้องการฉีดยาจำนวนมาก
6. สายรัดแขน
7. ยาหรือสารที่ต้องการฉีด
8. พลาสเตอร์

การเตรียมผู้ป่วยและญาติก่อนการทำหัตถการ
1. อธิบายความจำเป็นและวิธีทำแก่ผู้ป่วยและญาติ สำหรับเด็กให้ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายโดยคำนึงถึงการพัฒนาทางภาษาของเด็ก (ยกเว้นผู้ป่วยเด็กทารก หรือเด็กที่ยังไม่สามารถใช้ภาษาสื่อสาร)
2. เตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อมก่อนที่จะเข้าปฏิบัติต่อเด็ก
3. อนุญาตให้ญาติที่ได้รับการเตรียม อยู่กับผู้ป่วยขณะที่ทำหัตถการ

วิธีทำ
1. ล้างมือให้สะอาด เช็ดให้แห้ง แนะนำให้สวมถุงมือ
2. การปฏิบัติทุกขั้นตอนให้คำนึงถึงวิธีปราศจากเชื้อ
3. ดูดยาจากขวดยาตามต้องการ ถ้าเป็นยาผงให้ผสมกับสารละลายยา เขย่าให้ละลายดีแล้วจึงดูดยา
4. เลือกตำแหน่ง ขึ้นกับอายุและความเร่งด่วน ตำแหน่งที่ใช้ได้ คือ มือ แขน เท้า ขา ข้อพับแขน external jugular ควรเลือกตำแหน่งที่อยู่ส่วนปลายก่อน และ external jugular vein ควรเลือกเป็นอันดับสุดท้าย
5. ในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก ให้ผู้ช่วยจับหรือทำการห่อตัวเด็กให้อยู่นิ่ง
6. ใช้สายรัดเหนือต่อตำแหน่งที่จะแทงเส้น ให้แน่นพอที่จะกั้นการไหลของเลือดดำ แต่ไม่กั้นการไหลของเลือดแดง
7. เช็ดผิวหนังด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นวงกว้าง 3 – 4 เซนติเมตร รอให้แห้ง
8. แทงเข็มผ่านผิวหนังโดยวางแนวเข็ม 30-60 องศา เมื่อแทงเข้าเส้นได้แล้ว สังเกตโดยมีเลือดไหลย้อน ให้หยุดหรือขยับเข็มเข้าอีกเล็กน้อยเพื่อให้เลือดไหลออกดี ใช้กระบอกฉีดยาดูดเลือดให้ย้อนเข้ามาเล็กน้อยเพื่อให้แน่ใจว่าเข็มอยู่ในหลอดเลือด คลายสายรัดแล้วจึงค่อยๆ ฉีดยาเข้าเส้นเลือดจนหมด
9. ดึงเข็มออก กดด้วยสำลีแห้งไว้สักครู่ ควรดึงเข็มออกก่อนกดผิวหนังเพื่อลดความเจ็บจากการดึงเข็ม และไม่ควรให้ผู้ป่วยงอแขนพับขึ้น เนื่องจากทำให้เกิดก้อนเลือดใต้ผิวหนังได้
10. เก็บอุปกรณ์ โดยเฉพาะของมีคมในภาชนะที่เตรียมไว้
11. ล้างมือ

ภาวะแทรกซ้อน
1. เส้นเลือดแตกทำให้สารหรือยาเข้าไหลออกนอกหลอดเลือด
2. การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อข้างเคียง ได้แก่ เส้นประสาท เอ็น
3. การติดเชื้อ

รูป 1 แสดงแนวเส้นเลือดดำส่วนปลายที่แขน


Edit from http://www.thaipedlung.org/
and Current Procedures : Pediatrics

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น