ข้อบ่งชี้
เพื่อเก็บตัวอย่างเลือด จากเส้นเลือดดำ
ข้อควรระวัง / ข้อห้าม
การเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำควรเลี่ยงผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อ มีบาดแผลหรือมีการฉีกขาดของเส้นเลือดส่วนต้น (proximal vein injury) นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้เส้นเลือดบริเวณขา และการแทงเส้นเลือดที่คอในทารกเล็กๆ ที่มีปัญหาหายใจลำบากหรือมีปัญหาในกะโหลกศีรษะเลือดและสารคัดหลั่งจากร่างกาย ให้ถือว่าเป็นสิ่งที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค ควรระมัดระวังไม่ให้ถูกต้องกับผิวหนังหรือเสื้อผ้า
อุปกรณ์
1. อุปกรณ์ห่อตัว
2. อุปกรณ์ฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ 70% หรือ povidone-iodine สำลี
3. ถุงมือ
4. กระบอกฉีดยา ขนาด 5, 10 หรือ 20 มิลลิลิตร ขึ้นกับปริมาณเลือดที่ต้องการ
5. เข็มฉีดยา เลือกใช้ขนาดที่เหมาะสมกับขนาดตัวผู้ป่วย และเส้นเลือด ตั้งแต่ 25 – 18gauge ทั่วไปใช้ขนาด 23 – 21 gauge ความยาว 0.5 – 1.5 นิ้ว อาจใช้เข็มชนิดbutterfly ในกรณีที่ต้องการเจาะเลือดจำนวนมาก
6. สายรัดแขน
7. ขวดใส่เลือดที่มีจำนวน และชนิดถูกต้อง เช่นใส่สารกันเลือดแข็งตัว
การเตรียมผู้ป่วยและญาติก่อนการทำหัตถการ
1. อธิบายความจำเป็นและวิธีทำแก่ผู้ป่วยและญาติ สำหรับเด็กให้ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายโดยคำนึงถึงการพัฒนาทางภาษาของเด็ก (ยกเว้นผู้ป่วยเด็กทารก หรือเด็กที่ยังไม่สามารถใช้ภาษาสื่อสาร)
2. เตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อมก่อนที่จะเข้าปฏิบัติต่อเด็ก
3. อนุญาตให้ญาติที่ได้รับการเตรียม อยู่กับผู้ป่วยขณะที่ทำหัตถการ
วิธีทำ
1. ล้างมือให้สะอาด เช็ดให้แห้ง แนะนำให้สวมถุงมือ
2. การปฏิบัติทุกขั้นตอนให้คำนึงถึงวิธีปราศจากเชื้อ
3. เลือกตำแหน่ง ขึ้นกับอายุและความเร่งด่วน ตำแหน่งที่ใช้ได้ คือ ข้อพับแขน มือ เท้าexternal jugular ควรเลือกที่ข้อพับแขน คือเส้นเลือด cephalic, basilic ก่อนเนื่องจากเส้นเลือดเห็นได้ชัด และมีเส้นประสาทน้อย ส่วน external jugular veinควรเลือกเป็นอันดับสุดท้าย
4. ในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก ให้ผู้ช่วยจับหรือทำการห่อตัวเด็กให้อยู่นิ่ง
5. ใช้สายรัดเหนือต่อตำแหน่งที่จะแทงเส้น ให้แน่นพอที่จะกั้นการไหลของเลือดดำ แต่ไม่กั้นการไหลของเลือดแดง
6. เช็ดผิวหนังด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นวงกว้าง 3 – 4 เซนติเมตร รอให้แห้ง
7. ดึงผิวหนังเหนือเส้นเลือดให้ตึงขณะแทงเข็ม แทงเข็มผ่านผิวหนังโดยวางแนวเข็ม 30-60 องศา เมื่อแทงเข้าเส้นได้แล้ว สังเกตโดยมีเลือดไหลย้อน ให้หยุดหรือขยับเข็มเข้าอีกเล็กน้อยเพื่อให้เลือดไหลออกดี ใช้กระบอกฉีดยาค่อยๆ ดูดเลือดในจำนวนเท่าที่ต้องการ ถ้าเป็นเด็กเล็ก ที่ดูดเลือดได้ยาก อาจให้เลือดหยดออกมาแล้วรองด้วยหลอดเก็บตัวอย่างเลือด แต่ห้ามใช้วิธีนี้ในกรณีการเก็บเลือดเพื่อเพาะเชื้อ
8. คลายสายรัด
9. วางสำลีแห้งไว้เหนือจุดแทงเข็ม ดึงเข็มออก แล้วจึงกดสำลี ควรดึงเข็มออกก่อนกดผิวหนัง ถ้ากดก่อนดึงเข็มจะทำให้ผู้ป่วยเจ็บ ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยงอแขนพับขึ้นเนื่องจากทำให้เกิดก้อนเลือดใต้ผิวหนังได้ ให้ผู้ป่วยกดไว้ 2-3 นาทีจึงเอาสำลีออก ถ้ายังมีเลือดออกให้กดต่ออีก 2-3 นาที
10. ใส่เลือดเข้าหลอดเก็บเลือดทันที ตรวจสอบปริมาณเลือดให้เหมาะสม ถ้าใส่เลือดในหลอดที่มีสารป้องกันการแข็งตัว ให้พลิกหลอดคว่ำหงายเบาๆ ไม่ใช้วิธีเขย่าแรงๆ
11. เขียนและปิดฉลาก เก็บในอุณหภูมิเหมาะสม หรือส่งตรวจต่อไป
12. เก็บอุปกรณ์ ทิ้งของมีคมและวัสดุปนเปื้อนในภาชนะที่เหมาะสม
13. ล้างมือ
คำแนะนำเพิ่มเติม
- อาจใช้ blood pressure cuff แทน tourniquet โดยบีบให้ความดันอยู่ที่ 60 มิลลิเมตร
ปรอท
- การตีเบาๆ ที่จุดที่ต้องการแทงเส้น และการให้ผู้ป่วยกำมือ แบมือสลับกันเป็นจังหวะอาจช่วยให้มองเห็นเส้นเลือดง่ายขึ้น
- ผู้ป่วยที่ได้รับยากันเลือดแข็งตัว หลังเจาะเลือดเสร็จต้องกดให้นานพอ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าเลือดหยุดไหล
รูป 1 แสดงการเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำ
ภาวะแทรกซ้อน
1. เส้นเลือดแตกทำให้มีก้อนเลือดใต้ผิวหนัง
2. การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อข้างเคียง ได้แก่ เส้นประสาท เอ็น
3. การติดเชื้อ
Edit from http://www.thaipedlung.org/
and Current Procedures : Pediatrics
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น